"ความยากจน" โดยทั่วไปจะหมายถึงความยากจนในเชิงเศรษฐกิจ (Monetary Dimension) นั่นคือพิจารณา ที่ระดับรายได้ หรือฐานะทางเศรษฐกิจของบุคคลว่ามีรายได้ไม่เพียงพอกับการดำรงชีพได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำ หรือมีรายได้ ต่ำกว่ามาตรฐานคุณภาพชีวิตขั้นต่ำที่ยอมรับในแต่ละสังคม เมื่อนิยามความยากจนอิงกับการขาดแคลนรายได้เช่นนี้ เครื่องมือที่ใช้ในการวัดสภาวะความยากจนจึงใช้รายได้หรือรายจ่ายของครัวเรือน และแนวทางในการแก้ไขปัญหา ก็จะมุ่งเน้นที่การเพิ่มรายได้ของครัวเรือน โดยการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิตและกระบวนการผลิตสินค้า และบริการที่ดำเนินการโดยคนจน การปรับปรุงสภาพแวดล้อมของตลาดในด้านต่างๆ ให้เอื้ออำนวยต่อคนจน ตลอดจน การให้เงินอุดหนุนในรูปแบบต่างๆ เช่น เบี้ยยังชีพคนชรา เป็นต้น
ปัจจุบันได้มีแนวคิดใหม่ในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยในมุมมองใหม่นี้มิได้พิจารณาเฉพาะการมีรายได้น้อยหรือการบริโภค น้อยเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงมิติอื่นๆ ที่มิใช่ตัวเงิน (Non-monetary Dimension) ดังที่ปรากฏอยู่ในคำนำของรายงาน การพัฒนาโลก 2000/2001 การขจัดความยากจน ดังนี้
"ความยากจน มิได้จำกัดแต่เพียงการมีรายได้น้อยและการบริโภคน้อยเท่านั้น หากยังครอบคลุมถึงการขาดโอกาสด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล และโอกาสอื่นในการพัฒนาคน การไร้ซึ่งอำนาจ การขาดสิทธิขาดเสียง ตลอดจนการตกอยู่ในความเสี่ยง และความหวาดกลัว"
เมื่อนิยามความยากจนอิงกับมิติด้านอื่นๆ ที่กว้างขึ้น เช่น ความขาดแคลนโอกาสในด้านต่างๆ และขาดแคลนอำนาจและสิทธิ ของบุคคล เครื่องมือที่ใช้ในการวัดสภาวะความยากจนจึงกว้างขึ้นเช่นกัน นั่นคือดูที่ศักยภาพของคนจนว่าได้รับการเสริมสร้าง และพัฒนาอย่างไร เช่น การขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการพื้นฐานทางสังคมต่างๆ ของรัฐ อาทิ การศึกษา การสาธารณสุข ควบคู่ไปกับการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดิน ทุน และตลาด ตลอดจนการกระจายอำนาจการบริหารจัดการ ทรัพยากรและอำนาจทางการเมืองให้กับท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น